หุ่นยนต์เคลื่อนที่พร้อมการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเซนเซอร์หลายแบบ
Mobile Robot Platform with Multi-Sensory Data Acquisition
ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา ดร.เรวัต ศิริโภคาภิรมย์
รายชื่อสมาชิกกลุ่ม
1. นาย อนุพนธ์ พฤฒิอัครวาณิช รหัสนักศึกษา 50-1016-041-3
2. นาย มนต์ชัย กายาสมบูรณ์ รหัสนักศึกษา 50-1016-094-2
3. นางสาว วรรณลักษณ์ นิสสะ รหัสนักศึกษา 50-1016-354-0
ความเป็นมาและความสำคัญ
เนื่องจากปัจจุบันหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้มีการพัฒนาต่อเนื่องเป็นที่น่าสนใจ โดยมีการเพิ่มความสามารถให้กับหุ่นยนต์มากขึ้นให้ประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่น การนำหุ่นยนต์มาช่วยในการกู้ระเบิด การนำหุ่นยน์มาใช้ตรวจวัตถุต้องสงสัย เป็นต้น ทั้งหมดล้วนมีพื้นฐานมาจากหุ่นยนต์เคลื่อนที่ทั้งสิ้น ในการศึกษาเรื่องหุ่นยนต์เคลื่อนที่นี้จะทำให้ได้ความรู้ทางด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพราะการทำงานของหุ่นยนต์ประกอบไปด้วย การควบคุมความเร็วมอเตอร์เพื่อให้หุ่นเคลื่อนที่ได้ การควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลัง การทดรอบเฟืองทางกล มีการร่างแบบ เขียนแบบและออกแบบโครงสร้างของหุ่นยนต์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน การควบคุมหุ่นยนต์โดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์เพื่อสั่งการให้ส่วนต่างๆ ทำงานตามต้องการและติดต่อสื่อสารกับมนุษย์หรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้การทำงานของหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพ ซึ่งความรู้เหล่านี้สามารถเป็นทักษะในการพัฒนาความรู้ในเชิงความคิดและเชิงปฏิบัติได้
วัตถุประสงค์การศึกษา
การทำโครงงานปริญญานิพนธ์นี้ เป็นโครงงานที่เกี่ยวกับการนำเซ็นเซอร์ มอเตอร์ และ อุปกรณ์เกี่ยวกับหุ่นยนต์ต่าง ๆ ทำให้ต้องศึกษาเกี่ยวกับเนื้อหาดังต่อไปนี้
1. ศึกษาความเหมาะสมของการเลือกใช้เซนเซอร์แบบต่างๆที่จะนำมาใช้
2. ศึกษาออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานในการเก็บรวบรวมข้อมูจากเซนเซอร์แบบต่างๆที่ติดตั้งบนตัวหุ่นยนต์
3. ศึกษาการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ และการรวบรวมเก็บข้อมูลจากเซนเซอร์ที่ได้เลือกใช้
ขอบเขตการทำโครงงานวิทยานิพนธ์
1. สร้างหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้โดยใช้ Brushless DC Motor หรือ Stepper Motor เป็นตัวขับเคลื่อนสองล้อ (ส่วนประกอบของหุ่นยนต์ที่จำเป็น มีอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่จะทำโครงสร้างของตัวหุ่นยนต์ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับการวิ่งภายในอาคาร)
2. พัฒนาบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับควบคุมการทำงานของมอเตอร์ขับเคลื่อน เช่น สามารถควบคุมความเร็ว หรือระยะทางในการหมุนของล้อได้
3. พัฒนาบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์และซอฟต์แวร์เพื่อ
3.1. ควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์
3.2. เชื่อมต่อกับเซนเซอร์ที่ได้เลือกใช้ เช่น เซนเซอร์วัดระยะห่างด้วยคลื่นอัลตร้าโซนิกและแสงอินฟราเรด
3.3. เชื่อมต่อกับโมดูลกล้องแบบ CMOS Sensor Camera Module
3.4. บันทึกข้อมูลจากเซนเซอร์ต่างๆลงในการ์ดหน่วยความจำแบบ SD Card
4. พัฒนาโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ให้รับส่งข้อมูลกับหุ่นยนต์แบบไร้สายได้
5. ทดสอบและสาธิตการทำงานของหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้โดยการควบคุมของผู้ใช้และกึ่งอัตโนมัติ โดยไม่ชนสิ่งกีดขวางหรือผนังห้อง และสามารถเคลื่อนที่ไปจนถึงจุดหมายปลายทางได้
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการทำโครงงานวิทยานิพนธ์
1. ได้ความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์เพื่อเชื่อมต่อกับเซนเซอร์แบบต่างๆ และการติดต่อกับคอมพิวเตอร์ระยะไกลแบบไร้สาย
2. ได้ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบวงจรชุดขับและการควบคุมการทำงานของมอเตอร์ การออกแบบแผ่นวงจรพิมพ์ การเชื่อมต่อทางฮาร์ดแวร์ และการพัฒนาโปรแกรม
3. สามารถนำโครงงานนี้ไปพัฒนาให้ใช้ได้จริงกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันได้